21.07.2022
สกพอ. เปิดเวที ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า EV ในพื้นที่อีอีซี
มั่นใจดึงนักลงทุนรายใหญ่ ผลักดันไทยสู่ฐานการผลิตโลก
นางนงนุช เพ็ชรรัตน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการ “EEC Economic Forum : การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์กับผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ ในสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหารือถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งในพื้นที่อีอีซี ปัจจุบันมีผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องรายใหญ่ของโลกหลายแห่ง เช่น ABB, BMW, Siemens, REMODDIS, ALBA group และ BYD แสดงความสนใจพร้อมที่จะเข้าลงทุน เพื่อสนับสนุนให้อีอีซี สามารถบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ในประเทศเป็น 26% ภายในปี 2570 และได้ตั้งเป้าขยายมูลค่าการลงทุนต่อเนื่อง เพื่อผลักดันและต่อยอดให้ประเทศไทย ก้าวสู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก
พร้อมกันนี้ อีอีซี ได้มีความพร้อมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และผลักดันให้เกิดสภาพแวดล้อม (Ecosystem) มาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ส่งเสริมให้เกิดสถานีอัดประจุเพิ่มขึ้น 5,000 หัวจ่าย, โรงผลิต Battery, ศูนย์ทดสอบ EV Battery สนามทดสอบยานยนต์ขับคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) พร้อมเร่งผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) การพัฒนาอู่ซ่อมรถ ควบคู่ไปกับเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า, Electronics และ Mechatronics ในพื้นที่อีอีซี ไม่น้อยกว่า 30,000 คน เพิ่มโอกาสและสร้างงานรองรับบุคลากรให้มีทักษะสูง ตรงความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สร้างรายได้ให้คนพื้นที่อีอีซีอย่างมั่นคง
สำหรับผลการศึกษาของ สกพอ. ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) และทีมนักวิจัยจาก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกของไทย ที่ได้ทำการวิเคราะห์ผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ด้วยแบบจำลอง Dynamic-Computable General Equilibrium (Dynamic CGE) โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า พบว่า มีครัวเรือนบางส่วนได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ส่งผลให้การบริโภคโดยรวมของครัวเรือนเพิ่มขึ้น 34,129 ล้านบาท (ในปีแรกของการพยากรณ์ พ.ศ. 2565) และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2578 คาดว่า จะทำให้เกิดการบริโภครวมของครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงถึง 175,555 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จะเกิดการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคตอันใกล้ และจะเป็นโอกาสสำคัญดึงดูดให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เป็นกลไกหลักผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ 4.5 – 5% ต่อปี พร้อมสร้างความมั่นใจนักลงทุนต่อเนื่อง