ข่าวประชาสัมพันธ์

13.11.2020

การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี 5G จะเป็นจุดขายและแต้มต่อที่สำคัญในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)


ปักหมุด “อู่ตะเภา-บ้านฉาง” พื้นที่นำร่องเทคโนโลยี 5G 
เพิ่มแต้มต่อการลงทุนให้กับ EEC  

การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี 5G จะเป็นจุดขายและแต้มต่อที่สำคัญในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้ก้าวสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจอัจฉริยะและมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล เนื่องจากเทคโนโลยี 5G จะพลิกโฉมหน้าโครงสร้างภาคการผลิต ภาคธุรกิจ ภาคบริการ และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน โดยล่าสุด EEC และ TOT ได้ร่วมมือกันเดินหน้าให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมรองรับระบบ 5G และเตรียมประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5G ในพื้นที่ “สนามบินอู่ตะเภา มาบตาพุด และอำเภอบ้านฉาง” คาดใช้เวลา 3 เดือน จัดทำแผนให้ชัดเจน   

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เพื่อรองรับระบบสื่อสารและเทคโนโลยี 5G ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเสริมความเข้มแข็งการลงทุน ยกระดับภาคธุรกิจและความเป็นอยู่ประชาชนอย่างยั่งยืน  

 

เมื่อ 5G พร้อม การลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงจะหลั่งไหลมาในพื้นที่ EEC

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า เงื่อนไขที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจย้ายฐานการลงทุนมาไทยไม่ได้อยู่ที่จุดเด่นของโครงสร้างพื้นฐานและแรงงานราคาถูกอีกต่อไป แต่จะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี 5G เพื่อมารองรับเทรนด์การลงทุนของโลกที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น เนื่องจาก 5G จะช่วยสนับสนุนและขยายโอกาสการพัฒนาบริการดิจิทัลด้านต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้กว้างขึ้น ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เกิดการสร้างงานในพื้นที่ EEC มากขึ้น เพราะไม่ได้ใช้งานเพียงแค่ในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ดังนั้น กระทรวงดีอีเอส และ สกพอ. จึงต้องเร่งวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน 5G ขึ้นมารองรับและเพื่อทำให้ไทยมีจุดเด่นเหนือคู่แข่งชาติอื่น 

นอกจากนี้ การที่ทีโอที และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 5G โดยทีโอทีได้คลื่นความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นย่านความถี่สูง มีคุณสมบัติในการส่งข้อมูลที่มีความเสถียรมาก เหมาะกับการใช้งานที่ต้องการความแม่นยำสูงในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ด้านสาธารณสุข ด้านโลจิสติกส์ ครอบคลุมพื้นที่ใช้งานในอาคารตึกสูง ขณะที่ กสท โทรคมนาคม ได้คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นย่านความถี่ต่ำที่สามารถรองรับระบบ 5G ในพื้นที่วงกว้างครอบคลุมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและเมืองอัจฉริยะ หากทั้งทีโอที และ กสท โทรคมนาคม มีการควบรวมบริษัทจะทำให้มีศักยภาพในการเจาะตลาด 5G มากขึ้นและสามารถขยายระบบ 5G เข้าไปในพื้นที่ EEC เพื่อรองรับการลงทุนเทคโนโลยี 5G ในอนาคต 

“ในอนาคตอันใกล้นี้ทาง EEC และทีโอที จะต้องไปหารือกันว่าจะพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในพื้นที่ใดบ้างซึ่งการพัฒนาต่าง ๆ จะต้องวางเป็นแผนงานเป็นระยะ ๆ เพราะหลังจากฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยมีโอกาสที่จะใช้จังหวะที่เรามีการประมูล 5G ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นประเทศแรกในเซาท์อีสเอเชีย ด้วยการที่ออกตัวพัฒนา 5G ก่อน มีความพร้อมก่อน ต้องเร่งพัฒนาให้เสร็จก่อน เพื่อชิงความได้เปรียบในการเชิญนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเวลานี้ไทยได้เดินหน้าอย่างชัดเจนในการนำร่องวางระบบ 5G ซึ่งจะทำให้ใน 1 ปี EEC จะใช้ 5G ได้ทำให้ไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่ง” นายพุทธิพงษ์ กล่าว  

เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เร่งใช้ประโยชน์มหาศาลของ 5G  

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ลกพอ.) กล่าวว่า ความร่วมมือกับทีโอที จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เนื่องจาก 5G เป็นการทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐาน และวันนี้จะเป็นการนำ 5G ไปใช้ประโยชน์จริงและเป็นรูปธรรม  โดยจุดแรกของการพัฒนา 5G คือ 
 1.สนามบินอู่ตะเภาที่ในอนาคตจะเป็น 5G เต็มรูปแบบ 
 2.นิคมอุตสาหกรรมาบตาพุดซึ่งมีธุรกิจอยู่จำนวนมากซึ่งทีโอที จะเข้าไปช่วยพัฒนา Productivity ให้กับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและมีหลายบริษัทที่สนใจเข้ามาร่วมการพัฒนาในระยะแรก
  3.อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างสนามบินอู่ตะเภาและนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีพื้นที่ กว่า 10 ตารางกิโลเมตร ที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อย่างเป็นรูปธรรม และจะขยายไปพื้นที่อื่นในอนาคต  

โดยทีโอทีจะลงทุนวางท่อ เสา สายส่งสัญญาณ ระบบไฟเบอร์ออพติกสำหรับโครงข่าย 5G และจะใช้เวลา 3 เดือน ในการศึกษารายละเอียดแนวเส้นทางการวางโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว เพื่อช่วยรองรับการใช้งานของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจการแพทย์ และการตั้งศูนย์รวมสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ หลังจากนั้นจะประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 5G และจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อพิจารณาสิทธิประโยชน์ที่จะได้เพิ่มเติม เช่น สิทธิประโยชน์พื้นที่ สิทธิการเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย และใบประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ ซึ่งแผนดังกล่าวจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้   

ทั้งนี้ สกพอ. ได้ลงพื้นที่ไปอำเภอบ้านฉางไปสำรวจจุดวางท่อ วางเสาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า จะรายงานนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้ว่าจะทำ 5G ให้เป็นรูปธรรม และจะทำให้ประเทศไทยนำหน้าเรื่อง 5G ก่อนประเทศอื่นหลายช่วงตัว เพราะระบบ 5G ไม่เพียงเพิ่มศักยภาพในโรงงาน แต่ยังเกื้อหนุนให้เกิดธุรกิจบริการชั้นสูงตามมาอีกมาก เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบคลาวด์ ไอโอทีเซ็นเตอร์ สตาร์ทอัพ โดยขณะนี้มีนักลงทุนทั้งสหรัฐฯ และจีนที่สนใจลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ 5G ในไทย 

ทำไมต้อง อู่ตะเภา-บ้านฉาง

'สนามบินอู่ตะเภา' ถือเป็นโครงการต้นแบบในการร่วมพัฒนาสนามบที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการที่จะขยายขีดความสามารถในการให้บริการของท่าอากาศยาน ให้มีความพร้อมรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการขนส่ง ตามแผนการดำเนินงานของEEC ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 รวมถึงการเชื่อมโยงผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ  ตลอดจนการมุ่งสู่การเป็น Aviation Hub หลักของภูมิภาคได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เทคโนโลยี 5G 

สำหรับ 'บ้านฉาง' ถือเป็นทำเลที่ตั้งอันโดดเด่น มีความพร้อมทั้งโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การขนส่งและการเดินทางที่สะดวกสบายและครบครัน เพราะมีทางหลวงหมายเลข 7 หรือ มอเตอร์เวย์ มุ่งตรงสู่พื้นที่ อีกทั้งยังใกล้จุดศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ ทั้งทางอากาศ อย่างสนามบินอู่ตะเภา และทางน้ำซึ่งก็คือท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด และยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) จึงเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างเมืองที่อยู่อัจฉิยะ 

 

โดย โครงสร้างพื้นฐาน 8 ด้านของความเป็นเมืองอัจฉริยะ ที่เราจะได้เห็นในบ้านฉาง สมาร์ทซิตี้ คือ
 1.พลังงานอัจฉริยะผลิตพลังงานหมุนจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม
 2.การสัญจรอัจฉริยะ กำหนดตำแหน่งเมือง ที่สามารถเชื่อมโยงกับเมืองรอบข้างได้อย่างสะดวก
 3.ชุมชนอัจฉริยะ มีกิจกรรมหลากหลาย สำหรับคนทุกเพศทุกวัย พร้อมวางแผผนรองรับการเกิด
ภัยพิบัติและการอพยพ
 4.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ มีพื้นที่ผลิตอาหารและระบบกำจัดน้ำเสียและขยะภายนอก ไม่เป็นภาระเพิ่มแก่เทศบาลฯ ที่ต้องมาบริหารจัดการอีก
 5.เศรษฐกิจอัจฉริยะ ตั้งเป้าเป็นเมืองทันสมัยรองรับการลงทุน และการทำธุรกิจ ในพื้นที่อีอีซี
 6.อาคารอัจฉริยะ ภายในบ้านฉาง สมาร์ทซิตี้ จะมีเมืองสำนักงานให้เช่า ที่ได้รับการออกแบบเป็นอาคารสีเขียวระดับแพลตตินัม ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุด
 7.บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ จะตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการเมือง ผ็มีประสบการณ์การบริหารเมืองตามแนวทางสมาร์ทซิตี้
 8.นวัตกรรมอัจฉริยะ สามารถผลิตพลลังงานในเมืองได้ 100% จัดเก็บพลังงานได้ 50% และใช้การวางแผนจัดรูปที่ดินเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการใช้สอยพื้นที่ในเมืองอัจฉริยะให้เป็นประโยชน์ที่สุด

ด้าน นายชิต เหล่าวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า การลงทุนเทคโนโลยี 5G ใน EEC ไม่ใช่แค่ทางจีนที่สนใจ แต่ยังมี CISCO ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่สนใจเข้ามาวางระบบเน็ตเวิร์ค ระบบซอฟต์แวร์ บริการจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ (Cloud Service) รวมทั้ง VMware และบริษัทจากไต้หวันก็สนใจเข้ามา ดังนั้นเมื่อไทยทำเรื่อง 5G เสร็จแล้วจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนเข้ามาเพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมรองรับ 

ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการใช้โครงสร้างพื้นฐานระบบโทรคมนาคมและดิจิทัล เพื่อรองรับการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี 5G ที่จะช่วยกลุ่มอุตสาหกรรมลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันของประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนผู้ประกอบการทั่วโลกให้สนใจเข้าร่วมลงทุนในพื้นที่ EEC โดย สกพอ. และทีโอที จะร่วมกันเตรียมความพร้อมให้บริการระบบ 5G เต็มรูปแบบแก่ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการภาคเอกชนรายอื่น ๆ ที่จะเข้ามาใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน (Infrastructure Sharing) เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนระหว่างภาครัฐกับเอกชนใช้ทรัพย์สินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เป็นการผูกขาดทางธุรกิจ

คลังภาพ

ดาวน์โหลดวีดีโอ

ข่าว ล่าสุด

เมนู
TH