15.03.2023
อีอีซี ต้อนรับ คณะจาก สปป. ลาว เข้าศึกษาดูงาน ต้นแบบการพื้นนาที่สำคัญของไทย
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปพร้อมการพัฒนาพื้นที่และชุมชน
ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศ ดร.ชลจิต วรวังโส วีรกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ด้านเศรษฐกิจมหภาค พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ คณะจาก กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นำโดย Ms. Vanh Dilaphanh อธิบดีกรมแผนงานและการเงิน และคณะ ฯ กว่า 20 คน เข้าศึกษาดูงานการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นต้นแบบสำคัญของประเทศที่ต่อยอดความสำเร็จจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard โดยมีเป้าหมายหลัก คือการพัฒนาโครงการโครงการพื้นฐาน การส่งเสริมการลงทุนซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว โดยเริ่มยกระดับพัฒนาพื้นที่ในเขต 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อรองรับการขับเคลื่อนและเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ
ในการนี้ ดร.ชลจิต ได้บรรยายถึงความก้าวหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐานของโครงการ รวมถึง ภาพรวมการลงทุน ทั้งนี้ ทางคณะ สสป.ลาว ได้ให้ความสนใจ ลงพื้นที่และเข้าเยี่ยมชมโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ อีอีซี ที่ปัจจุบันได้เริ่มการก่อสร้างในส่วนการพัฒนาสาธารณูปโภคแล้ว อาทิ งานระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ งานระบบปะปา และงานระบบน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน สำหรับ โครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงแรกปี 2570 และได้ตั้งเป้าหมายรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดกว่า 60 ล้านคนต่อปี ก้าวสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการขนส่ง รวมทั้งจะสามารถเชื่อมโยงการขนส่ง ร่วมกันกับ สปป.ลาว ซึ่งทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์จากการขนส่งสินค้า ที่สนามบินอู่ตะเภาฯ จะเป็นประตูเศรษฐกิจออกไปยังภูมิภาคเอเชีย
นอกจากนี้ คณะ ฯ ได้ศึกษาแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งอีอีซี ได้ร่วมกับ สวทช. นำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตให้แก่ผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน อาทิ การนำระบบรดน้ำอัตโนมัติอัจฉริยะ ซึ่งควบคุมด้วยสมาร์ทโฟน การนำถุงห่อทุเรียน Magik Growth ซึ่งเป็นนวัตกรรมถุงแดง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตทุเรียน ที่ช่วยให้ เนื้อทุเรียนเนียน สวย รสชาติดี ซึ่งอีอีซี ได้ผลักดันให้เกษตรกรสวนทุเรียนำไปใช้เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้ให้เกษตรเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ คณะจากกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ได้ยกให้การพัฒนาพื้นที่ อีอีซี เป็นต้นแบบที่สำคัญของไทย กระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมการพัฒนาพื้นที่และชุมชนร่วมกัน โดยเฉพาะการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก รถไฟความเร็วสูงฯ สนามบินอู่ตะเภาฯ และท่าเรืออุตสาหกรรม ที่สามารถเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ การผลักดันด้านการยกระดับชุมชนที่สำคัญ ทั้งด้านการเกษตรสมัยใหม่ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ผลไม้ไทย ถือเป็นสินค้าที่มีเสน่ห์สำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย โดยนโยบายอีอีซีของไทย นับเป็นโมเดลต้นแบบสำคัญ ที่ สปป.ลาว จะได้นำไปศึกษาและปรับใช้เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งภายในประเทศต่อไป